ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับผลร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมากต่ออนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกบน Mint และนำมาเผยแพร่ซ้ำที่นี่ Green energy push for a sustainable future (livemint.com)
เมื่อโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโลกร้อน พลังงานหมุนเวียนสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงให้อนาคตของเราสว่างมากขึ้น รายงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ฉบับล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 เตือนว่า ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบอย่างยากจะหวนกลับแก่ระบบนิเวศวิทยาของโลก ซึ่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
รายงานระบุว่า “ความเปลี่ยนแปลงมากมายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลกที่พบเห็น ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง 1,000 หรือแม้แต่ 100,000 ปีก่อนหน้า ผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะ 100-1,000 ปีข้างหน้านี้” ถ้าไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและทันที และจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5°C หรือไม่เกิน 2°C เราจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสได้
รายงานยังเตือนอีกว่า ผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนนี้จะรุนแรงแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้น ฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น ฤดูหนาวที่สั้นลง ฝนที่ตกไม่ตรงฤดูอันนำไปสู่ภัยแล้งและน้ำท่วม และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คนที่ติดตามเรื่องวิกฤตโลกร้อนคงไม่แปลกใจกับผลวิจัยในรายงานฉบับนี้ รายงาน Emissions Gap Report โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้เตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องหลายปี รายงานฉบับปี 2563 กล่าวว่า “ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงสูงขึ้นเป็นปีที่ 3 ในปี 2562 ขึ้นไปแตะระดับที่สูงกว่าเดิมที่ 52.4 GtCO2e (จำนวน 1 พันล้านตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) เมื่อไม่รวมการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (LUC) และจะสูงถึง 59.1 GtCO2e เมื่อรวม LUC”
ปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก คาดกันว่า ทั่วโลกผลิตกระแสไฟฟ้ได้ราว 25,865 ล้านล้านหน่วยชั่วโมง (TWh) และกว่า 60% (ประมาณ 15,756 TWh) มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน ในขณะที่ไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียนมีแค่เพียง 2,802 TWh หรือไม่ถึง 11% (ตัวเลขที่กล่าวมาไม่รวมถึงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำและนิวเคลียร์ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ถ้าเพิ่มสัดส่วนการผลิต)
แม้วิกฤตโลกร้อนยากจะแก้ไข แต่สิ่งที่น่ายินดีคือรัฐบาลทั่วโลกต่างเริ่มขยับตัว รายงาน Emissions Gap Report ฉบับปี 2563 ระบุว่า “ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลรายงาน 126 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็น 51% ได้วางเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) บางประเทศได้นำไปปรับใช้ บางประเทศได้ประกาศเป้าหมาย และบางประเทศกำลังพิจารณาแนวทาง ถ้าสหรัฐอเมริการ่วมตั้งเป้า Net zero ภายในปี 2593 ด้วย สัดส่วนของประเทศที่เข้าร่วมเป้าหมายนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 63%” (สหรัฐอเมริกาได้ตกลงเข้าร่วมเป้าหมายนี้หลังจากที่รายงานได้เผยแพร่แล้ว)
ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และสหภาพยุโรป+สหราชอาณาจักร รัฐบาลประเทศเหล่านี้กำลังพยายามผลักดันโครงการพลังงานสีเขียวอย่างเต็มที่
สหรัฐอเมริกา : หลังจากกลับเข้าร่วมความตกลงปารีสอีกครั้ง ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ประกาศเป้าหมายว่า สหรัฐฯ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2573 และจะพลิกโฉมเป็นประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593
จีน : จีนกลายเป็นผู้นำในด้านปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียน คาดกันว่า ภายในปี 2563 จีนจะใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าถึง 895 กิกะวัตต์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2603 รายงานล่าสุดระบุว่า จีนกำลังเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ปีที่แล้วมีเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานลม 72 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 2562 มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น 60% ในปี 2563 และคาดกันว่า ภายในปี 2573 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของประเทศจะมาจากแหล่งพลังงานทดแทน 20%
สหภาพยุโรป (EU) : กฎระเบียบพลังงานทดแทนฉบับใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2561 กฎระเบียบดังกล่าวระบุเป้าหมายร่วมของชาติสมาชิกว่าต้องใช้แหล่งหมุนเวียนมาผลิตพลังงานอย่างน้อย 32% ภายในปี 2573 สหภาพยุโรปยังตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
อินเดีย : ตัวเลขล่าสุดจาก Ministry of New and Renewable Energy ระบุว่าปริมาณการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน ไม่รวมแหล่งพลังงานน้ำขนาดใหญ่ ได้ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 100 กิกะวัตต์หรือ 100,000 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 26% ของแหล่งพลังงานทั้งหมด จากการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนไม่ถึง 20 กิกะวัตต์ในปี 2553 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 96 กิกะวัตต์ที่ประกอบด้วนพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงานงานน้ำจากแหล่งเล็ก ๆ ถ้ารวมพลังงานน้ำขนาดใหญ่ด้วย ตัวเลขจะกลายเป็น 142 กิกะวัตต์ หรือ 37% ของแหล่งพลังงานที่อินเดียใช้ นายกรัฐมนตรีอนเรนทรา โมดีประกาศว่า รัฐตั้งเป้าจัดหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึง 450 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ถ้าสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ สัดส่วนการใช้แหล่งพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าของอินเดียจะพุ่งไปแตะ 65%
นอกจากวิกฤตโลกร้อนและแรงผลักดันจากภาครัฐ ยังมีอีกปัจจัยที่ส่งผลให้พลังงานสีเขียวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในช่วงทศวรรษที่แล้ว แม้ผู้วางนโยบายจะมองเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ด้วยต้นทุนเทคโนโลยีในขณะนั้น โครงสร้างพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไปในปัจจุบัน
การลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพของโมดูลโซลาร์เซลล์ การลดต้นทุนสร้างโรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลม โดยเฉพาะในเรื่องเส้นผ่าศูนย์กลางใบพัดและความสูงดุมยึดใบพัด ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานสีเขียวลดลงเป็นอย่างมาก แม้ต้นทุนพลังงานลมจะลดลงมาแค่ช่วง 30-40% แต่ต้นทุนเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยระบบรวมแสงอาทิตย์ (CSP) ลดลงมาถึง 47%
พลังงานที่ต้นทุนลดลงมาเยอะที่สุดคือโซล่าเซลล์ (SPV) ที่ลดลงมาถึง 82% ประมาณการว่า ในปี 2553 ถ้าลงทุนใน SPV 1 ล้านเหรียญฯ จะได้พลังงานไฟฟ้า 213 กิโลวัตต์ ผ่านไป 1 ทศวรรษ เงินลงทุนเท่าเดิมจะให้ผลผลิตถึง 1,005 กิโลวัตต์ เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า
ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) รายงานว่า การสร้างโครงสร้างพลังงานหมุนเวียนขึ้นใหม่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการเก็บโรงงานถ่านหินเอาไว้ “ในปีหน้า การผลิตพลังงาน 1,200 กิกะวัตต์ด้วยถ่านหินจะมีต้นทุนสูงกว่าการใช้โซล่าเซลล์สมัยใหม่”
การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้มาก รายงานของ IRENA ระบุว่า “ถ้าปีหน้า ประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้า 500 กิกะวัตต์ด้วยโซล่าเซลล์และทุ่งกังหันลมบนบกแทนถ่านหิน ต้นทุนผลิตพลังงานจะลดลงถึง 23 ล้านเหรียญฯ ต่อปี และจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 1.8 กิกะตันต่อปี หรือเท่ากับ 5% ของปริมาณการปล่อยก๊าซดังกล่าวทั่วโลก”
อีกองค์ประกอบที่กำลังได้รับการพัฒนาคือระบบกักเก็บพลังงาน แบตเตอรี่เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และจะมีบทบาทมากขึ้นช่วงทศวรรษข้างหน้า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนลดลงถึง 80-85% เป็นผลมาจากงานวิจัยและพัฒนาและปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบกักเก็บพลังงานและรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเอื้อมถึงได้
ทูฟ ซูดได้อยู่ในแนวหน้าของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์หรือกังหันลมบนบก รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างไฮโดนเจน โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ และทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่ง พร้อมให้ความร่วมมือแก่โรงงานไฟฟ้า ผู้ควบคุมระบบไฟฟ้า สถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐ บริการของเราครอบคลุมทั้งวงจรตั้งแต่การสอบทานธุรกิจ การศึกษาความเป็นไปได้และวางแผนจัดซื้อจัดจ้าง ก่อสร้าง ทดสอบ ตรวจสอบ และบริการทางเทคนิคที่จำเป็นต่อการควบรวมกิจการ ไปจนถึงการสร้าง ดำเนินงาน และบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า
แม้ว่าวิกฤตโลกร้อนจะดูน่าหดหู่ แต่เรายังคงมีความหวังกับอัจฉริยะภาพและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ เมื่อผู้คนตื่นตัวมากขึ้น รัฐก็เริ่มออกนโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อหาหนทางแก้ไข โดยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เราเชื่อมั่นว่า โลกใบนี้จะสามารถก้าวผ่านวิกฤตและสร้างอนาคตอันยั่งยืนสำหรับทุกคนได้ในที่สุด
เลือกที่ตั้งของคุณ
Global
Americas
Asia
Europe
Middle East and Africa