Sustainable Infrastructure Development
4 min

บทบาทของโครงสร้างคุณภาพในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กร

Posted by: Niranjan Nadkarni Date: 03 Apr 2022

บทนำ : วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ. 2030 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ยิ่งใหญ่ หนึ่งในกุญแจสู่การบรรลุเป้าหมายประกอบด้วยระบบทดสอบ ตรวจสอบ รับรอง ประเมิน และอบรม

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ของสหประชาชาติได้วางวิสัยทัศน์สำหรับต่อสู้กับความยากจนในหลายมิติ วิสัยทัศน์ได้ถูกแปลงมาเป็นเป้าหมาย 8 ประการที่ประชาคมโลกใช้เป็นกรอบการพัฒนานานกว่า 15 ปี

เราได้เห็นผลงานอันน่าทึ่งจากความพยายามของรัฐบาลชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตัวอย่างผลงานจากรายงานของสหประชาชาติในปี 2558

  • ประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มยากจนสุดขีดลดลงกว่าครึ่ง จาก 1.9 พันล้านคนในพ.ศ. 2533 เหลือ 836 ล้านคนในพ.ศ. 2558 ความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังพ.ศ. 2543
  • อัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับชั้นประถมของกลุ่มประเทศพัฒนาแตะ 91% ในพ.ศ. 2558 เพิ่มขึ้นจาก 83% ในพ.ศ. 2543
  • อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลดลงกว่าครึ่ง และอัตราส่วนการตายของมารดาทั่วโลกลดลง 45% นับแต่ปีพ.ศ. 2533
  • จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลง 40% ในระหว่างพ.ศ. 2543 และพ.ศ. 2556 และสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียได้ 6.2 ล้านรายระหว่างพ.ศ. 2543 และพ.ศ. 2558
  • ในพ.ศ. 2558 ประชากรโลก 91% มีแหล่งน้ำดื่มที่สะอาด เมื่อเทียบกับ 76% ในปีพ.ศ. 2533 

แม้ความสำเร็จเหล่านี้จะน่าทึ่ง แต่ดังที่นายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติกล่าไว้ว่า เรายังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาอีกหลายเรื่อง “จะผลักดันความก้าวหน้าต่อต้องอาศัยเจตจํานงทางการเมือง และความร่วมมือกันในระยะยาว”

การสร้างแนวร่วมปฏิบัติ

เพื่อร่วมพัฒนาโลก ชาติต่าง ๆ ได้ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามแนวทางพัฒนาเพื่อบรรลุเป้ามหายที่ยิ่งใหญ่ หรือก็คือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีเป้าหมายร่วมกัน 17 ประการที่ออกแบบมาเพื่อเป็น “ต้นแบบการก้าวสู่อนาคตที่ดีและยั่งยืนกว่าสำหรับทุกคนบนโลก”

นอกจากจะช่วยบรรลุเป้าหมาย MDG แบบบูรณาการแล้ว SDG ยังวางวิสัยทัศน์ให้องค์กรเอกชนมีบทบาทสำคัญมากขึ้น นี่เป็นการยอมรับว่า องค์การระหว่างประเทศและเงินสนับสนุนเพียงลำพังไม่สามารถบรรลุขอบข่ายและเป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ. 2030 ได้ ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมต้องร่วมมือกัน

SDG มีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่เกี่ยวพันกัน 3 ประการ - ผู้คน ความมั่งคั่งยั่งยืน และโลก การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความมั่งคั่ง SDG เข้ามาช่วยดูแลว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นตอบสนองความต้องการทางสังคม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในช่วง 6 ปีหลังจาก SDG เริ่มเผยแพร่ องค์กรเอกชนที่มีชื่อเสียงได้เข้ามามีบทบาทในการผลักดันเป้าหมายต่าง ๆ ผลการสำรวจของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) ในพ.ศ. 2562 พบว่า จากบริษัทที่สำรวจทั้งหมด 250 แห่ง 82% ได้มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG

ความยั่งยืนในฐานะกลยุทธ์ธุรกิจ

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมองค์กรเอกชนถึงมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมาย SDG เหตุผลแรกที่สุดคือแรงกดดันจากนโยบายรัฐ รัฐบาลพยายามผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ต้องประกาศความมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมาย SDG การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และเป้าหมายที่ได้บรรลุ

เหตุผลที่สองคือแรงกดดันจากกลุ่มประชาสังคม สื่อ และนักลงทุน ในปัจจุบัน องค์กรต้องไม่เอาแต่พูด ต้องแสดงให้ประจักษ์ด้วยผลงานที่จับต้องได้

เหตุที่สาม และอาจจะเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สำคัญที่สุดคือ ผู้บริหารในบอร์ดและระดับ C ต้องยอมรับว่า การพัฒนาโครงสร้างอันยั่งยืนจะส่งผลดีกับธุรกิจ มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า องค์กรจะประสบความสำเร็จและยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาวเมื่อมีเป้าหมายด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมขึ้น เป้าหมายเหล่านั้นจะช่วยให้องค์กรมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน ลูกค้า คู่ค้า หน่วยงานรัฐ และนักลงทุน บริษัทที่มีเป้าหมายครอบคลุมมักจะมีภาพลักษณ์และทำกำไรเหนือกว่าคู่แข่งในตลาด

การพัฒนาโครงสร้างอย่างยั่งยืน

หนึ่งในปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ธุรกิจยั่งยืนได้คือโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (QI) รายงายขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ระบุว่า ระบบ QI ซึ่งครอบคลุมการกำหนดมาตรฐาน มาตรวิทยา การตรวจสอบและรับรองคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการทดสอบและรับรอง มีความสำคัญในบทบาทพื้นฐานของการเปลี่ยนผ่าน “QI จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่รอบด้าน ผลักดันนวัตกรรม นำพาองค์กรและอุตสาหกรรมไปสู่เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสมและแนวทางใหม่ที่ช่วยปรับปรุงการปฏิบัติในปัจจุบัน พร้อมทั้งช่วยให้ผู้มีอำนาจสามารถวางแผนนโยบายได้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs

คุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ QI ที่ดีส่งเสริมยังสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 9 ของ SDG “สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม” การระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายมหาศาลแก่ผู้คนและเศรษฐกิจช่วยตอกย้ำถึงความจำเป็นของ QI เพราะมันจะช่วยให้วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่ส่งไปทั่วโลกผ่านมาตรฐานการทดสอบเดียวกัน

ในโลกไร้พรมแดนนี้ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของชาติต่าง ๆ มักเกี่ยวพันกับความสามารถในการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือส่วนประกอบที่ผ่านการทดสอบ คู่ค้ายอมรับ และตอบสนองความต้องการของตลาดปลายทาง ผู้ผลิตต้องแน่ใจว่า สินค้าของตนต้องมีคุณภาพสม่ำเสมอ ตรงตามระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และตรงตามข้อกำหนดของลูกค้า งานด้านควบคุมคุณภาพจึงมีส่วนสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ การรับรอง การทดสอบ และการอบรม

ที่สำคัญ การปฏิบัติตามมาตรฐานยังช่วยลดผลกระทบเชิงลบจากกระบวนการผลิต และยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างยั่งยืนที่ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นอาคาร โรงงาน ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ

และนี่ก็สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 9 ของ SDG ที่กล่าวถึงการอัปเกรดและเรโทรฟิตโครงสร้างและอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโครงสร้างต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหมุนเวียนพลังงาน และเพิ่มปริมาณการนำกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้

การสอบเทียบและรายงานทดสอบ รวมถึงข้อมูลการตรวจสอบและใบรับรองจากหน่วยงานรับรองที่ได้คุณภาพถือจะกลายเป็นจุดขายขององค์กร และช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ และหน่วยงานรัฐว่า สิ่งที่ผู้ผลิตกล่าวนั้นเป็นความจริง

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหาร C-Level ที่รอบรู้จะให้ความสำคัญกับการทดสอบและรับรองโครงสร้างและกระบวนการผลิตเป็นลำดับต้น ๆ

เราเข้าใจบทบาทของโครงสร้างคุณภาพใน SDG และเราพร้อมจะเคียงข้างคุณระหว่างการเดินทางสู่ความยั่งยืน

 

 

 

 

 

 

ผู้แต่ง: Mr. Niranjan Nadkarni, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

คลิก ที่นี่ เพื่ออ่านบล็อกอื่นๆโดย Mr. Niranjan Nadkarni

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เลือกที่ตั้งของคุณ